เทคนิคการเขียน IELTS Writing ระดับ Advanced
ReadyPlanet.com

 

เทคนิคการเขียน IELTS Writing ระดับ Advanced



Advanced IELTS Writing Tips & Tricks
 

1.เขียนให้ตรงประเด็นตามประเภทของโจทย์คำถาม

ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นลำดับแรกของการทำข้อสอบ IELTS Writing  อ่านคำถามให้เข้าใจและตอบเฉพาะสิ่งที่โจทย์ถาม สิ่งที่สำคัญอันดับแรกก็คือ ตอบให้ตรงกับลักษณะของคำถาม  ซึ่งในการสอบ IELTS Writing การตอบให้ตรงประเภทของคำถามนั้นถือว่ามีความสำคัญมากเป็น 1 ใน 4 ส่วนของคะแนนทั้งหมด (จะอธิบายประเภทของคำถามในบทความถัดไปนะครับ) คือรูปแบบในการตอบจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นไปตามประเภทของคำถาม เช่น

ถ้าเป็น Writing Task II ถ้าโจทย์คำถามเป็นประเภท Discussion จะมีการออกความคิดเห็นเป็นสองฝ่ายในประเด็นที่ถูกยกมาถาม และให้เราแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้น รูปแบบในการเขียนบทความนี้ก็ต้องเป็นไปถามแนวทางของคำถามอย่างชัดเจน คือ ต้องเขียนถึงความคิดเห็นในมุมตรงกันข้ามของทั้ง 2 ฝ่ายเหตุผล แล้วแสดงให้เห็นว่าเราเห็นด้วยกับฝั่งไหนและคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนั้น   

ถ้าเป็น Writing Task I เราจะต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบและสรุปข้อมูลต่างๆที่ได้มาในรูปแบบของแผนภูมิต่างๆ เช่น Line Graph, Bar Chart, Table, Process, Picture เป็นต้น ในส่วนของ Task I นี้ เราต้องเขียนในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบและสรุปข้อมูลตามที่ได้รับมาโดยต้องไม่มีการใส่ความคิดเห็นส่วนตัวของเราลงไป

2.ฝึกทำ Paraphrase โจทย์และเข้า Introduction ของโจทย์ Writing ทั้ง 2 พาร์ท
 
มีนักเรียนจำนวนมากที่ประสบปัญหาในการเสียเวลากับการเขียนบทนำ Introduction มากเกินไป จนทำให้เหลือเวลาน้อยในการเขียนเนื้อหา(Body) และ สรุป(Conclusion) ซึ่งอาจจะทำให้เขียนเนื้อหาได้ไม่ครบถ้วนตามที่โจทย์ต้องการได้ทันเวลา สาเหตุหลักก็เป็นเพราะว่านักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการที่จะทำให้ได้คะแนนในส่วนบทนำสูงๆนั้น จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนคำศัพท์และรูปประโยคใหม่จากโจทย์เดิมทั้งหมดเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีทักษะด้านการ Paraphrase ที่ดีเยี่ยม สามารถอธิบายโจทย์และสิ่งที่เรากำลังจะเขียนต่อไปในส่วนเนื้อหา(Body)ได้ด้วยรูปประโยคใหม่และคำศัพท์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ผิดนะครับถ้าเรามีความสามารถขนาดนั้นในเวลาที่จำกัด แต่ถ้าไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆก็คือ แทนที่จะได้คะแนนสูงขึ้นเพราะใช้เวลาในการคิดบทนำไปตั้งเยอะ ในการเปลี่ยนรูปประโยคและคำศัพท์ใหม่ทั้งหมด แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ตรวจ(examiners)อ่านแล้วไม่เข้าใจ รู้สึกว่าความหมายของบทนำใหม่นี้เป็นคนละประเด็นกับสิ่งที่โจทย์ต้องการ(คืออ่านแล้วรู้สึกยิ่งงงนั่นเอง???)

ที่จริงแล้วแทนที่จะไปเสียเวลามากมายขนาดนั้นและยังต้องเสี่ยงว่าสิ่งที่เราพยายาม Paraphrase ไปนั้นจะให้ความหมายเป็นเรื่องเดียวกันหรือออกนอกเรื่องหรือเปล่า  มีเทคนิคง่ายๆในการ Paraphrase ส่วน Introduction เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายๆและได้คะแนนชัวร์ๆ (ติดตามได้ในบทความ เทคนิคการเขียน IELTS Writing Task I และ Task II)

3.วางสัดส่วนของเนื้อหาที่เขียนให้เหมาะสม 
 
บางคนอาจจะคิดว่าเขียนเยอะๆ แล้วจะได้คะแนนเยอะ ที่จริงๆแล้วไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป การวางสัดส่วนในการเขียนในแต่ละส่วนของEssay นั้นถือว่ามีความสำคัญต่อการให้คะแนนด้วย Introduction Body และ Conclusion ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม โอกาสที่จะได้คะแนนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นสามารถเกิดขึ้นได้ เพียงการเขียนEssay ที่มีสัดส่วนจำนวนคำที่ไม่เหมาะสม   
 
การเขียนจำนวนคำมากๆจึงอาจจะไม่ทำให้ได้คะแนนสูงเสมอไป ด้วยเวลาที่จำกัด การเขียนให้เกินจำนวนคำขั้นต่ำที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 – 10% เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในส่วนของการเขียนรายงานข้อมูล (Task I) ควรจำกัดจำนวนคำอยู่ที่ 160 ถึง 200 คำ และในส่วนของเรียงความ (Task II) จำนวนคำที่แนะนำ คือ 260 ถึง 280 คำ 

แต่อย่าเข้าใจผิดว่าต้องเขึยนมากกว่า 300 คำหรืออย่างน้อย 3 body paragraph ถึงจะได้คะแนน 7.0 หรือมากกว่าได้ ไม่จำเป็นเลยนะครับ ที่จริงแล้ว Essay ที่มี 2 body paragraph ถ้าเขียนได้ตรงประเด็นและถูกต้องตามรูปแบบ คำศัพท์และไวยกรณ์ สามารถทำคะแนน 7.0 หรือมากกว่าได้แน่นอนครับ

4.เขียนให้เนื้อหาสอดคล้อง เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน 
 
ในเรื่องการเขียนนั้น คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาเรื่อง Grammer หรือ คำศัพท์ต่างๆ แต่กลับเป็นปัญหาเรื่องของความไม่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องของประโยคแต่ละประโยคที่เขียนต่อๆกันไป  เรามักจะคิดไปเองว่าเขียนแบบนี้เจ้าของภาษาก็น่าจะเข้าใจได้แล้ว แต่ความจริงแล้วการตกคำเชื่อมหรือคำนำหน้าประโยคที่ควรจะมีบางคำ สามารถทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจเนื้อหาโดยรวมของทั้งย่อหน้านั้นได้เลย เมื่ออ่านแล้วไม่แน่ใจว่าต้องการจะสื่อไปในทางไหน ก็จะไม่สามารถให้คะแนนได้ ทำให้เสียคะแนนในส่วนของ Cohesion ไป

5.ตอบคำถามให้ตรงประเด็นและเป็นเหตุเป็นผล
 
หลายคนตอบคำถามโดยอธิบายสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลหรือตรงประเด็นต่อคำถาม เช่น ถามเรื่องปํญหาการจราจรที่ติดขัด ไปตอบเป็นเรื่องมลภาวะ  หรือถามเรื่องปัญหาเศรษฐกิจแต่ไปยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้เราเสียคะแนนในเรื่องความชัดเจนหรือเป็นเหตุเป็นผลในการตอบ คือส่วนของ  Coherence 
  
 
หลักเกณฑ์ในการให้คะแนน IELTS Writing 
 
• Task Achievement - โครงสร้างในการตอบตรงกับความต้องการของโจทย์คำถาม
• Coherence and Cohesion - ฟังดูมีเหตุมีผลและเชื่อมต่อประโยคได้อย่างสละสลวย
• Lexical Resource - ใช้คำศัพท์ที่เป็นทางการศึกษาหรือคำศัพท์ที่ยากสำหรับมุคคลทั่วไป
• Grammatical Range and Accuracy - ไวยกรณ์ถูกต้อง 
 
คะแนนและเวลาในการสอบ IELTS Writing
 
IELTS Writing Task I  คะแนนเต็ม 20 คะแนน
IELTS Writing Task II คะแนนเต็ม 40 คะแนน 
มีเวลาในการทำข้อสอบทั้งหมด 60 นาที
 
การบริหารเวลาในการทำข้อสอบ
 
เนื่องจากคะแนนเต็มของ TaskII มากกว่า Task I ถึง 1 เท่าตัว จึงควรทำข้อสอบ IELTS Writing Task II ให้เสร็จก่อน เพราะถ้าเหลือเวลาไม่พอหรือทำ Task I ไม่เสร็จอย่างน้อยก็จะเสียคะแนนน้อยกว่า

อย่างไรก็ตามควรควบคุมเวลาในการทำ Task II ไม่ให้เกิน 40 นาที หรือถ้าไม่ทันจริงๆก็ไม่ควรเกิน 45 นาที ต้องเหลือเวลาไว้ทำ Task I อย่างน้อยที่สุด 15 นาที ฝึกกำหนดเรื่องของการทำเวลาทุกครั้งในการฝึกเขียน เพราะอย่าลืมว่าในการสอบจริงเราถูกควบคุมด้วยเวลา 60 นาที

ติดตามรายละเอียดแบบเจาะลึกต่อได้ในบทความ
 
 
 

All The Best,

Voravisuth  Vacharabenjapat (Arjan.A)
 
REALISTIC ENGLISH
Practical ways to overcome IELTS